การประดิษฐ์แผนที่ดูดาว







แผนที่ดาวคืออะไร
                                แผนที่ดาวคือเครื่องมือที่ช่วยในการบอกตำแหน่งของดาว  หรือกลุ่มดาวฤกษ์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า  จากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก  เนื่องจากดาวฤกษ์อยู่ในอวกาศที่เป็นสามมิติและอยู่ห่างจากโลกมาก   การมองด้วยตาเปล่าไม่สามารถจะบอกระยะทางที่ดาวแต่ละดวงว่าอยู่ห่างจากโลกมากหรือน้อย  แต่เราจะเห็นว่าดาวเรียงกันอยู่เป็นรูปร่างต่าง ๆ กัน  ดาวที่เราเห็นว่าอยู่ใกล้กันอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้กันก็ได้  จากการที่ดาวฤกษ์อยู่ห่างจากโลกมาก  จึงทำให้เราไม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวได้ด้วยตาเปล่า  ในช่วงชีวิตของเราจึงถือว่าดาวฤกษ์ทุกดวง  อยู่เกือบคงที่บนท้องฟ้า  แต่ในความจริงดาวฤกษ์ทุกดวงกำลังเคลื่อนที่  เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วหลายกิโลเมตรต่อวินาที  ถ้าผู้สังเกตในสมัยเมื่อสองพันปีที่แล้ว  ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันเขาจะพบว่าดาวฤกษ์หลายดวงได้เปลี่ยนตำแหน่งไปเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์อื่น  ๆ 
                                การขึ้นและตกของดาว  เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเองโดยหมุนจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก  หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา  เมื่อมองจากขั้วโลกเหนือจุดที่เป็นแกนหมุนของโลกคือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้  ถ้าเราต่อแกนหมุนของโลกออกไปในท้องฟ้า  แกนหมุนจะชี้ไปบริเวณใกล้กับดาวเหนือ (Polaris  อยู่ในกลุ่มดาวหมีเล็ก)  ทำให้เราสังเกตเห็นดาวทุกดวงขึ้นจากทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกใช้เวลา  1 วัน  (หรือ 15 องศาต่อชั่วโมง)  และในขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์  ในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาหรือจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกใช้เวลา  1  ปี  (ประมาณ   1 องศาต่อวัน)  ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นดาวทุกดวงเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกวันละประมาณ  1 องศา  หรือขึ้นเร็วขึ้นวันละประมาณ  4  นาที

วิธีใช้งานแผนที่ดูดาวแบบวงกลม
                                ตั้งเวลาที่จะสังเกตการณ์  โดยหมุน  “นาฬิกา”  (ที่ขอบแผ่นขอบฟ้า)   ให้ตรงกับ  “ปฏิทิน” (ที่ขอบแผ่นแผนที่)  ตัวอย่างเช่น  ต้องการดูดาวในเวลา  05.00 น. ของวันที่  5  เดือนมกราคม  ก็ให้หมุนแผ่นขอบฟ้ามาจนกระทั่ง  ขีดสเกล  “05.00”  ตรงกับสเกลที่  5  เดือนมกราคม  ของแผ่นแผนที่
                                จับแผนที่ดาวแหงนขึ้น  โดยให้ทิศเหนือและทิศใต้บนแผนที่ดาว  ชี้ตรงกับทิศเหนือและทิศใต้ของของภูมิประเทศจริง  ควรระลึกไว้เสมอว่า  การอ่านแผนที่ดาวมิใช่ก้มอ่านหนังสือ  แต่เป็นการแหงนดู  เพื่อเปรียบเทียบท้องฟ้าในแผนที่กับท้องฟ้าจริง
                                เมื่อเวลาเปลี่ยนไป  ให้หมุนแผ่นขอบฟ้า (แผ่นบน)  ตามทิศตามเข็มนาฬิกาไปยังเวลาปัจจุบัน  จะเห็นได้ว่า  กลุ่มดาวทางทิศตะวันออกของแผนที่  จะเคลื่อนที่ห่างจากขอบฟ้า (E)  มากขึ้น  ในขณะที่กลุ่มดาวในทิศตะวันตก  จะเคลื่อนที่เข้าหาขอบฟ้า (W)  เสมือนการเคลื่อนที่  ขึ้น – ตก  ของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าจริง
                                จะสังเกตเห็นว่า  ไม่ว่าจะหมุนแผ่นขอบฟ้าไปอย่างไรก็ตาม  เส้นศูนย์สูตรฟ้าจะอยู่แนวทิศตะวันออก(E)  และตะวันตก (W)  เสมอ  เพราะนั่นคือเส้นแบ่งซีกท้องฟ้า  และเส้นสุริยะวิถีตรงกลุ่มดาวคู่  จะอยู่ค่อนไปทางเหนือ (โซลส์ติซฤดูร้อน)  และเส้นสุริยะวิถีตรงกลุ่มดาวคนยิงธนู  จะอยู่ค่อนไปทางใต้ (โซลส์ติซฤดูหนาว)  วงกลมทั้งสองเอียงตัดกันเป็นมุม  23.5 o เนื่องเพราะแกนของโลกเอียงขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์

ข้อพึงระวัง
                                  แผนที่ดาวแบบวงกลมนี้มีข้อจำกัด   เนื่องจากสร้างขึ้นโดยการตีแผ่ทรงกลม  ออกเป็นระนาบสองมิติ  (360 o projection
                                  กลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือจะมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริง  และกลุ่มดาวในซีกฟ้าใต้จะขยายถ่างเกินสัดส่วนจริง  ดังนั้น หากใช้แผนที่นี้ดูดาวที่อยู่ใกล้ขอบฟ้าใต้  ขอแนะนำให้ดูดาวสว่างเป็นดวง  ๆ  แล้วค่อยไล่เปรียบเทียบไปกับท้องฟ้าจริง
                                  ตำแหน่งบอกทิศทั้งแปด  มิได้ห่างเท่า ๆ กัน  สเกลระหว่างทิศเหนือ (N)  ไปยังทิศตะวันออก (E)  และทิศตะวันตก (W)  จะอยู่ใกล้ชิดกันมาก  ส่วนสเกลไปทางทิศใต้ (S)  จะมีระยะห่างออกไปกว้างกว่าหลายเท่า
                                  หากหันหน้าดูดาวทางทิศเหนือ  ให้หันหน้าเอาด้านอักษร N ลง
                                  หากหันหน้าดูดาวทางทิศใต้  ให้หันกลับด้านเอาอักษร  ลง
                                  หากหันหน้าไปทางทิศอื่น  ให้พยายามตรึงแนว  N-S  ให้ขนานกับทิศเหนือ – ใต้  ของภูมิประเทศจริงไว้ตลอดเวลา






หมายเหตุ  :  แผนที่ดาววงกลมนี้  ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้  ณ  บริเวณใกล้กับละติจูด  15 o เหนือ  เช่นภาคกลาง  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  อย่างไรก็ตามการนำไปใช้  ณ  ละติจูดอื่น ๆ  ของประเทศไทย  ก็มิได้ต่างไปจากท้องฟ้าจริงมากนัก




                                แผนที่ดาวชนิดนี้ประกอบด้วย  แผ่นกระดาษสองใบคือ  แผ่นแผนที่(แผ่นล่าง)  และแผ่นขอบฟ้า(แผ่นบน)  ซ้อนกันอยู่  และยึดติดกันด้วยตาไก่ที่ตรงจุดศูนย์กลาง

            ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา  รังสิต